ใช้ชีวิตเป็นเด็กบ้านนอก จ.มุกดาหาร บ้านภู
เคยอยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเองไหม ?
เราคือเด็กเมืองกรุงอายุ 25 ปี ที่ฝันอยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง
ธรรมชาติ ความเรียบง่าย เวลาที่ไม่ต้องเร่งรีบ สนามหญ้า
ทุ่งนา ภูเขา ผัก ปลา หาได้จากหลังบ้าน สิ่งเหล่านี้ที่หาไม่ได้เมืองกรุง
ทุกเช้าที่ต้องรีบตื่น การเดินทางที่ต้องเผื่อเวลา อากาศที่สูดหายใจก็มีแต่ควันรถ
พอได้ฟังเรื่องเล่าจากเพื่อนที่มีบ้านนอกเป็นของตัวเอง
ก็ยิ่งอยากมีบ้านนอก ให้กลับไปพัก หลบหนีความวุ่นวาย
ได้แต่นั่งคิดนอนฝัน เมื่อไหร่กันนะ
เมื่อมีโอกาสได้มาเป็นเด็กบ้านนอก มาลองมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง
กับโครงการ ‘The Village Story’
ที่ให้เราได้มาเปิดประสบการณ์อยู่ในชุมชนต่างจังหวัด 6 วัน 5 คืนเต็ม ๆ
นอกจากเรา ก็จะมีเพื่อนชาวต่างชาติที่สมัครร่วมโครงการนี้มาเช่นกัน
เพื่อนสาวร่วมชะตากรรมของเราในทริปนี้คือ เปมา เปมาคือคนภูฏาน ที่มาไทยแล้วกว่า 8 ครั้ง
และที่ที่จะเป็นบ้านนอกในฝันของเราก็คือ‘บ้านภู’จ.มุกดาหาร
เอาจริงว่าไม่เคยมีความรู้ หรือได้ยินชื่อที่นี่มาก่อน ตอนสมัครมาก็เลือกที่ที่ไม่เคยมาสิ!
มันจะเป็นยังไง สนุก มันส์ ฮา
หรือเราอาจจะไม่เหมาะกับบ้านนอก ที่ผ่านมาเป็นความอยากจากจิตที่คิดไปเอง
แต่…ก็ลุยดิวะ เปิดประสบการณ์ใหม่กับการบุกบ้านนอก ที่ยาวนานที่สุดในวัย 25 ปี เย่!
Day 1
จากกรุงเทพเรานั่งเครื่องบินมาลงที่ จ.นครพนม จากนั้นก็นั่งรถต่อมาที่บ้านภู
จากสนามบินมาที่นี่ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงกว่า ๆ ที่ จ.มุกดาหารยังไม่มีสนามบิน ก็เลยต้องนั่งเครื่องมาลงที่ จ.นครพนม หรือจะ จ.ร้อยเอ็ดก็ได้ระหว่างสองข้างทางที่นั่งรถมา ประทับใจ หลับสนิทตลอดทาง เพราะมัวแต่ตื่นเต้น กลัวตกเครื่องเพราะไฟลท์เช้ามากกกกกก
ตัดภาพมาก็ถึงหน้าหมู่บ้านเกือบห้าโมงเย็น พี่มุ (ไกด์ที่ดูแลเรา)ปลุกเราให้ตื่น สะลืมสะลือขึ้นมา
ถึงแล้วจ้าาาาาาาาาาา
ลงจากรถก็มีพี่ ๆ แม่ ๆ และก็เด็ก ๆ มารอต้อนรับด้วยชุดท้องถิ่น
แน่นอนว่าคนดี ๆ อย่างเรามาเยือน ไฟดับต้อนรับกันเล๊ยยยย
แต่สิ่งที่ต้องทำจะไม่หยุด อะไรมาฉุดก็ไม่อยู่ เราก็มานั่งพูดคุยถึงความเป็นมาของชุมชน
คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนผู้ไทย(ภูไท)คือชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน อพยพมาจากลาวในช่วงรัชกาลที่ 3 นอกนั้นก็เป็นเรื่องกิจกรรมภายในชุมชน ตารางกิจกรรมว่ามีอะไรบ้าง ท่ามกลางความมืด ฟ้าฝนอึมครึม
และได้ชื่อใหม่ให้กับ‘เปมา’เป็น ‘ปีใหม่’ เนื่องจากแม่ ๆ เรียกเปมา คงจะยากเกินไปหน่อย
ให้มันได้อย่างนี้สิ
จากนั้นพี่ปิ๊ก (ผู้ประสานงาน)ก็พาเราปั่นจักรยาน
ใช่ค่ะ ปั่นจักรยาน การเดินทางของเราที่นี่คือการปั่นจักรยาน (บ้านนอกในฝันของช้านนนน)
ไปบ้านพักโฮมสเตย์ ที่เราต้องอยู่ตลอด 6 วัน 5 คืน คือบ้านแม่จันทร์สร้อย
อยู่ใกล้กับลานวัฒนธรรมชนิดที่ว่าเม็ดเหงื่อยังไม่ทันออกก็ถึงแล้ว
และภาพที่คิดคือแม่จะออกมายืนยิ้มหน้าบ้านรอต้อนรับ
เป็นภาพ พี่ปิ๊กเดินเปิดประตูพาเราเข้าบ้านพร้อมเรียกแม่จันทร์สร้อยว่าพวกเรามาถึงแล้ว
แม่ก็พาเรามาดูห้องนอน ห้องน้ำ ตู้เย็น กาน้ำร้อน (เอ๊ะ)ว่าอะไรอยู่ตรงไหน
ห้องนอนเตียงใหญ่สองเตียง ขนาดสี่คนนอน แต่มีคนนอนแค่สองคน แม่บอกนอนห้องนี้แหละมีแอร์
โอ้ววว ฉันรักแอร์ และฉันรักแม่ด้วย
หลังจากที่เก็บของกันเรียบร้อย พอมีเวลานิดหน่อยก็ออกไปปั่นจักรยานเล่นสำรวจหมู่บ้านกันแปปนึง
เพราะฟ้าใกล้มืดแล้ว
มาถึงวันแรกเจียมตัวไว้ว่าอย่าเพิ่งซ่า เพราะถ้าหลงขึ้นมานี่กลับบ้านกันไม่ถูกแน่นอน
เราปั่นจักรยานมาแถวถนนใหญ่ ขับตามถนน ทุ่งนามาเรื่อย ๆ ถึงได้เห็นว่าหมู่บ้านนี้มีภูเขาล้อมรอบ
และฝนฟ้าที่ตกจนไฟดับ ได้สร้างคุณหมอกขึ้นมาปกคลุมภูเขา พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน
ทิ้งแสงสุดท้ายไว้ตรงหน้า
นี่สินะ บ้านนอกที่ฉันตามหา…..
Day 2
เมื่อคืนกลับมาถึงบ้านก็หลับสนิทไปพร้อมกับเสียงฝน ตื่นขึ้นมาก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงฝน
และเสียงแม่ที่เรียกให้มากินข้าว
วันนี้แพลนของเราคือไปทำนากันในตอนเช้า และตอนบ่ายมีหัดทำบายศรี ซ้อมรำเพื่อที่จะไปรำงานพาแลง
จากบ้านเราปั่นจักรยานมารวมตัวที่ลานวัฒนธรรม ก่อน เพื่อที่จะเปลี่ยนชุดเป็นเสื้อภูไท
(ที่ทุกคนใส่กันมาต้อนรับเราเมื่อวาน)
และปั่นจักรยานตามพี่ปิ๊ก พี่กุ๊กไก่ไปที่นากัน
หลังจากสมาชิคครบ เตรียมเสบียงเรียบร้อยก็ปั่นจักรยานกันไปโล
มาถึงนาที่จะตกเป็นเหยื่อของการดำนาครั้งแรกของเรา
การแต่งตัวให้พร้อมในการดำนาคือเสื้อแขนยาว กางเกางห้าส่วน ถุงเท้าผ้าลื่นที่ยาวถึงเข่า
ซึ่งจะช่วยให้เท้าเราไม่ติดลงไปในโคลน และโคลนจะไม่เลอะเถอะผิวเรา
มันเป็นนวัตกรรมความรู้ใหม่มาก ๆ เลยจอร์ด
เพิ่งรู้ว่าตัวเนื้อผ้าลื่น ๆ ที่ยืดได้นี้จะดีกับการมาลุยโคลนแบบนี้!
แม่ก็สอนวิธีการดำนา ให้หยิบมาจำนวนสามสี่ต้น
และปักลงไปในดิน เอาให้รากลงไปให้ดิน และปักต้นอื่นให้ห่างกันหนึ่งศอก
เราก็ปักอย่างขะมักเขม้น ปักไปด้านหน้าเรื่อย ๆ
พี่กุ๊กไก่ (แฟนพี่กิ๊ก หรือผู้ดูแลเราอีกคน) ตะโกนลงมา ‘เขาให้ปักข้าวแล้วเดินถอยหลังกันวุ้ย’
โอ้โห อายเลย ก็ว่าแม่ ๆ หายไปไหนหมด ปกข้าวแล้วเดินถอยหลังกันนี่เอง
อ่ะ เอาใหม่ หนูปักข้าวพร้อมเดินถอยหลังแล้ว
แต่ทำไมต้นข้าวเราไม่มันเรียงสวยเหมือนที่แม่ทำเล๊ยยยยย
ดำนาเสร็จ ก็มานั่งพักเหนื่อยที่ศาลาตรงทุ่งใต้ต้นไม้ และรังมดแดง
รังมดแดงรังเบ่อเริ้ม เดินไปเสียวหัวไป กลัวเดินไปมาละชนมาก มีน้ำตาตกแน่นอนถ้าร่วงใส่หัวมา
ก็เลือกทำเลที่นั่ง ที่ปลอดภัยรังมดแดงแล้ว
แม่ก็เอาขนมมาให้กิน เป็นข้าวต้มมัดไส้กล้วย ที่ใส่น้ำอัญชันในข้าวเหนียว ทำให้ข้าวเหนียวเป็นสีฟ้า
เป็นครั้งแรกที่กินข้าวต้มมัดสีนี้ ความสำคัญกว่าสีก็คือ อร่อยมากกกกก
ข้าวเหนียวนุ่ม ไม่แฉะ กล้วยก็หวานไม่เละเกินไป เบิ้ลชิ้นที่สอง สาม และสี่ไปติด ๆ เลยจ้า
เสร็จช่วงเช้าก็กลับบ้านไปอาบน้ำเปลี่ยนชุดมาที่ลานวัฒนธรรม เพราะเราจะมาหัดทำบายศรีกัน
เรารู้จักพิธีบายศรีกันอยู่แล้วแหละ
เวลามีแขกบ้านแขกเมืองก็จะจัดพิธี หรืองานแต่ง งานสำคัญ ที่เป็นมงคล
วัสดุในการทำบายศรีก็คือใบตอง แม่บอกว่าต้องเป็นใบตองจากกล้วยตานีเท่านั้น
เพราะเวลาที่เอามาพับจะอยู่ทรงที่สุด
ดีที่มีพื้นฐานจากการพับกระทงในตอนเด็ก พอมาทำบายศรีก็พอเป็นการเป็นงานกับเขาอยู่บ้าง
นอกจากตัวบายศรี แม่ก็สอนให้ทำขันหมากเบ็งเพื่อที่จะเราเอาไปไหว้พระที่สิม(โบสถ์) วัดศรีนันทราราม
เป็นโบสถ์เก่าที่อยู่มาตั้งแต่มีหมู่บ้าน มีอายุประมาณ 175 ปี
และไหน ๆ ก็มาขนาดนี้ แม่ก็จับเราแต่งตัวเป็นสาวภูไท แบบเต็มยศ
ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม การแต่งเป็นสาวภูไท เสื้อจะเป็นเสื้อภูไท คือย้อมครามใส่ขลิบแดง
ผ้าถุงจะว่าซิ่นทิวเป็นผ้าทอสีแดงสลับกับสีดำ สไบลายขิด ผมจะมัดมวยขึ้นและพันด้วยดอกฝ้าย
เพียงเท่านี้ เราก็กลายเป็นสาวภูไทใจลูกทุ่ง !!
แม่บอกว่า สาวภูไทใจรักการเต้น เป็นสาวภูไทต้องเต้นได้
แม่ก็จับมาซ้อมเต้นก่อนที่จะมีงานแห่กล้องตุ้มพาแลง
(พาแลง คือ ภาษาอีสาน แลง = เย็น พา = สำหรับอาหาร ก็คือกิจกรรมเพื่อทานอาหารเย็นร่วมกัน)
และสเต็ปการเต้นที่นี่บอกเลย คุณจะได้พบกับเมืองที่มีการเต้นอยู่ในหัวใจ
เพราะที่นี่ต้องฝึกเต้นถึง 3 แบบ
แม่จ๋า การเต้นของหนูครั้งสุดท้ายคือการสอบลีลาสจังหวะชะชะช่า ตอนม.ปลาย
ซึ่งตอนนั้นก็แทบเอาตัวไม่รอด
วันนี้ต้องมาฝึกเต้น 3 แบบจะรอดไหมมมมม
ซึ่งทั้ง 3 จะมี การฟ้อนเซิ้ง การเต้นเร้าใจแบบฉบับอีสาน
เต้นบัสโลบ เป็นการเต้นที่มีสเต็ปจากฝั่งลาว
ฟ้อนภูไท เป็นการรำที่อ่อนช้อยที่สุดในสามแบบนี้
ในแต่ละแบบก็มีสเต็ปย่อยอีก
โอ้
มาย
ก๊อดดดดดดดด
แม่บอกมาถึงขั้นนี้แล้ว มาต้องเต้นให้ได้ ดูตามแม่ไว้ ยังไงก็รอด
ซ้อมสเต็ปแรก จำได้
สเต็ปสอง จำได้
สเต็ปสาม จำได้
กลับมาสเต็ปแรก ลืม
แต่พอวน ๆ ซ้อม ๆ ไปเรื่อย ๆ ร่างกายเริ่มชิน
ซึ่งเอาจริงก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะ ถ้าสเต็ปเท้าได้ ที่เหลือมือไม้ พันระวิงไปก็ดูโปรแล้ว
แม่บอกเห็นไหมเต้นได้แล้วเนี่ย อยากบอกแม่ ถ้าให้หนูเต้นเดี่ยว หนูตายยย
ดีที่การเต้นของที่นี่จะเต้นเป็นกลุ่มพร้อมกันหลายคน ก็เต้นท่าเดียวตามกัน ยังไงฉันต้องรอด
ถึงช่วงแห่พาแลง แปลกใจมาก ว่าทำไมคนถึงมากันเยอะขนาดนี้
เยอะชนิดที่ว่าไม่เคยไปที่ไหนแล้วมีคนมาต้อนรับ มาร่วมงานกันมากขนาดนี้มาก่อน
เพราะคนที่เขามาต้อนรับคือ เรา และ ปีใหม่ ที่มาร่วมโครงการ
แต่ชาวบ้านมาแห่ต้อนรับเหมือนเราเป็นคณะใหญ่
ซึ่งจริง ๆ มากัน 2 คน!!
พอแห่เข้ามาถึงลาน พิธีกรก็กล่าวพิธีการไปตามปกติ
ถึงช่วงเวลาการเต้น ทุกคนลุกขึ้นมาแบบพร้อมใจ จัดแถว เด็ก ๆ อยู่หน้า แล้วเรียงตามอายุกันไป
แถวพร้อม เพลงพร้อม ดีเจพร้อม
.
.
หนูไม่พร้อมมมมมมมม
แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี ต้องขอบคุณเจ้าน้องหนูที่อยู่ด้านหน้า
ทำให้เราเต้นตามได้อย่างลื่นไหล
ถึงช่วงสำคัญของวันนี้พิธีบายศรี
เราเคยร่วมพิธีบายศรีมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ประทับใจที่สุด
อาจเพราะบายศรีที่เราได้ช่วยทำ
อาจเพราะได้เห็นความประทับใจจากปีใหม่ต่อประเพณีนี้จนมันส่งต่อมาถึงเรา
อาจเพราะแทบทุกคนที่มาร่วมงาน มาผูกข้อมือให้กับเรา
ทั้งพ่อแก่ แม่แก่ เด็ก ๆ ที่ทุกคนดูมีส่วนร่วมและสนุกกับการได้มาร่วม
ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการถูกบังคับมา แต่ทุกมาคนด้วยความยินดี และต้อนรับเราจริง ๆ
คืนนั้นเราเห็นความประทับใจ และน้ำตาที่มันล้นเอ่อจากปีใหม่
ก็อยากจะบอกกับปีใหม่ว่า
don’t cry นะะะะะ
Day 3
ความฝันของการมีบ้านนอกของเราคือมีทุ่งนา ภูเขาให้วิ่งเล่น ให้เดินสำรวจ
และตอนนี้ฝันของเรากำลังจะเป็นจริง เพราะวันนี้เราจะไปเดินสำรวจป่ากันนนนนนนนนนนน
ไปดูต้นไม้ ใบไม้ที่สวน(ภูเขา)หลังบ้าน
พี่แดง(ไกด์ชุมชน)บอกกับเราว่าป่าคือซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ ชั้นดี
พูดจบเดินยังไม่ถึงตีนเขา พี่แดงก็ชี้ต้นไม่พร้อมอธิบายสรรพคุณต่าง ๆ ให้ฟัง
อย่างใบส้มลม ให้เคี้ยวใบจะช่วยแก้ท้องผูกได้ หรือสาบเสือ เอาใบมาเคี้ยวก็ช่วยห้ามเลือดได้
และเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ จนต้องบอกพี่แดงพอก่อน เมมโมรี่สมองหนูเต็มแล้ว
จุดมุ่งหมายของการเดินเขาในครั้งนี้ของเราคือไปเก็บหน่อไม้ และปลูกป่ากัน
ภาพเด็กสาวรักโลก หิ้วต้นกล้าอ่อนต้นไม้จากโฆษณา CSR ต่าง ๆ
ลอยมาแต่เดี๋ยวก่อน การปลูกป่าของเรา จะล้ำกว่านั้น
เพราะเราจะปลูกด้วยการยิงเมลต้นมะค่าโมงด้วยหนังกระติ๊กกัน!
หลังจากเสร็จภารกิจบนเขา ก็ลงมาทำอาหารกันที่ด้านล่าง ไหน ๆ
วันนี้ก็มาในธีม เข้าป่าไม่อดตาย จากที่รู้เรื่องต้นไม้ ใบไม้ สมุนไพร ต่าง ๆ
ในป่าแล้ว เราก็จะมาทำอาหารกันด้วยการก่อไฟ และหุงข้าว ทำอาหารโดยกระบอกไม้ไผ่
ที่จำลองจากชาวบ้านเวลาเข้าป่า ถึงเวลาทำอาหารก็ต้องใช้วัสดุในการทำจากธรรมชาติ
สารภาพว่าตอนที่รู้ว่าต้องมาทำอะไรแบบนี้
ก็รู้สึกอดใจไม่ไหว อยากจุดไฟ อยากก่อฟืนแล้ววว
เพราะเราไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ในกรุงเทพแน่นอน แม่คงด่า มีเตาแก๊สจะก่อฝืนทำxxxอะไร
และเมนูที่เราจะทำในวันนี้ก็คือ หุงข้าวเหนียว และ แกงกะบั้ง (กะบั้ง = กระบอก)
วัตถุดิบคือเนื้อสัตว์ (อะไรก็ได้ที่สามารถหาได้)ยอดคอนแคน ยอดหวาย หรือผักอื่น ๆ ที่หาได้ในป่า
ปรุงรสด้วยพริก เกลือ ข้าวเบือ น้ำย่านาง กลมกล่อมอีกหน่อยด้วยน้ำปลาร้า
หลังจากที่ก่อไฟ เอากระบอกไม้ไผ่ไปตั้ง ใส่น้ำไปนิดหน่อยสำหรับทำแกงกะบั้ง
ส่วนข้าวที่หุงเราจะหุงข้าวเหนียว หน้าที่ของเราคือทำตามที่ลุงบอก
เพราะไม่อย่างนั้นมื้อเที่ยงของเราอาจตกอยู่ในอันตรายถ้าอยู่ในมือเรา
ใช้เวลาในการเตรียม ทำอาหารไปเกือบสองชั่วโมง หิวนะ แต่สนุกมากกว่า
พูดถึงรสชาติอาหารออกมาเป็นที่น่าพอใจ เข้าขั้นอร่อยเลยแหละ
เรานี่ก็มีฝีมือไม่เบา
บอกคำเดียวเลยว่า
#เข้าป่าไม่อดตาย
ไหน ๆ วันนี้ก็ขึ้นเขาตอนเช้า ตกเย็นก็ไปเดินเล่นวิ่งเล่นที่ทุ่งนากันหน่อย
ดูพระอาทิตย์ตกดิน ไม่มีวิวตึก มีแต่วิวภูเขาให้พระอาทิตย์ได้แอบหลบไปพักผ่อน
วันนี้เป็นอีกวันที่เหนื่อย
แต่เป็นความเหนื่อยแค่ร่างกาย
แต่พลังใจได้กลับมาเต็มร้อย
อาหารเย็นปรุงจากวัตถุดิบที่หาได้ในวันนี้
Day 4
เมื่อวานตอนที่เดินเล่นบนเขา พี่แดง(ไกด์ชาวบ้าน)ได้ชี้ไม้ต้นหนึ่งให้เราดู
คือต้นส้มเสี้ยว พี่แดงบอกเปลือกไม้ของต้นนี้เอาไปย้อมสีผ้าได้ จะให้สีผ้าเป็นสีส้มโอรส
ทำให้วันนี้เกิดกิจกรรมย้อมผ้าสีธรรมชาติจากเปลือกไม้กันจ้า
จากภูเขาสู่ผืนดิน
เปลือกไม้เราไปเลาะจากต้นส้มเสี้ยวมากันตั้งแต่เมื่อวาน
การเลาะคือเอาแค่เปลือกอย่าให้ถึงแก่น และไม่ควรเลาะรอบต้น แค่ฝั่งเดียวก็พอ
ไม่อย่างนั้นจะทำให้ต้นไม้ตายได้
เราใช้ของจากเขาแล้ว อย่าทำร้ายเขาเลย
.
.
สาธุ
Step 1
หั่นเปลือกไม้เป็นชิ้น ๆ นำไปต้มทิ้งไว้ หลังจากนั้นนำน้ำจากเปลือกไม้มาต้มทิ้งไว้ต่อ
Step 2
นำผ้าที่เราจะเอาไปมัดย้อมมามัดด้วยก้อนหินเล็ก ๆ หลาย ๆ ก้อน เพื่อสร้างลายที่มีเพียงผืนเดียวในโลก
Step 3
น้ำผ้าที่มัดเป็นไปจุ่มน้ำเปล่า (น้ำฝน หรือน้ำบาดาล เพราะไม่มีคอลรีน)
บิดให้หมาด ๆ และนำไปจุ่มในหม้อน้ำจากสีเปลือกไม้ ทิ้งไว้ 15-30 นาที
Step 4
นำมาผึ่งให้หายร้อน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
แต่!!!
ขั้นตอนการย้อมผ้าของที่บ้านภู ไม่ใช่ย้อมเปลือกไม้ธรรมดา
จึงมี Step 5
ก็คือการหมักโคลนด้วย ฮั่นแน่ สงสัยละสิว่าหมักโคลนคืออะไร หมักทำไม
การหมักโคลนจะช่วยให้ผ้าของเรานิ่มขึ้นนั่นเอง
บอกเลยว่าตอนที่ได้ยิน ต้องเอาผ้าไปจุ่มในโคลนแน่นอน
แต่ไม่ใช่โว้ยยยยยยย
ขั้นตอนมันคือการเอาโคลนมาผสมกับน้ำ คน ๆ ให้มันเข้ากัน
และปล่อยทิ้งไว้สักพักให้โคลนมันลงไปกองข้างล่าง
แล้วเราก็ตักเอาแค่น้ำโคลนมาใช้ (กรองเอาเศษไม้ออกด้วย)
หลังจากนั้นก็เอาไปล้างน้ำให้สะอาด ผึ่ง ตาก จบ
เรียบร้อย (ของจริงละจ้า)
ระหว่างที่รอผ้า ก็มาเล่นไม้โถกเถกกับเด็ก ๆ
ไม้โถกเถกก็คือการละเล่นที่ใช้ไม้ไผ่สองอันเจาะรู ทำที่วางเท้าแล้วขึ้นไปยืนเพื่อเดิน
เคยคิดว่าตัวเองทรงตัวได้ดี เพราะไอซ์สเก็ตก็เล่น โรลเลอว์เบลดก็เล่น บอร์ดก็เล่น
แต่บ้าเอ้ย แค่ขึ้นไปยืนเฉย ๆ สองวิยังยากเลย!
น้อง ๆ เด็ก ๆ เห็นเราเล่นก็เป็นกำลังใจที่ดี เห็นยืนแล้วหล่นหัวเราะกันลั่น
แถมเดินโชว์ให้ดูอีก ว่าเนี่ย ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลยพี่
ถึงเมืองอีสาน ไม่กินส้มตำได้ที่ไหน
จะกินก็ไม่ให้กินธรรมดา ให้เรามาตำเองอีก
บอกเลยว่าจะโชว์ฝีมือให้ดู จากการที่กินส้มตำมากว่ายี่สิบปี กินมาไม่ต่ำกว่าหลายร้อยครก
วันนี้ จะมาตำส้มตำครกแรกในชีวิตให้ทุกคนได้กินเอง!
เจ้าน้อง ๆ ทั้งหลายก็ยังตามมาให้กำลังใจและกระซิบสูตรอยู่ข้าง ๆ
ได้รับคำการันตีว่าอร่อยจากน้อง ๆ ก็สบายใจ
รู้สึกขอบคุณน้ำปลาร้า และอายิโนะโมโตะซองนั้นจริง ๆ ที่ช่วยชีวิตเราไว้
แฮนด์คราฟเดย์
ตอนบ่ายเรามาทำสบู่จากสมุนไพรกัน บ้านที่ทำสบู่อยู่ข้าง ๆ บ้านพักเราเลย
ถึงว่าทำไมสบู่ก้อนที่บ้านแม่ถึงหอมจัง เขามีผลิตกันเองในหมู่บ้านเลย
ที่นี่สบู่สมุนไพรธรรชาติ ปลูกกันเอง เก็บกันเอง ใช้กันเอง ขายกันเอง และขายคนนอกด้วย
นอกจากสบู่ก็มีครีม โลชั่น สครับต่าง ๆ
ส่วนสมุนไพรธรรมชาติที่ทำหลัก ๆ ก็จะเป็น ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ฟักข้าว
ซึ่งแต่ละตัวก็มีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายเราอยู่แล้ว
แต่จะดียิ่งขึ้นเมื่อมาอยู่ในผลิตภัณฑ์จากบ้านภู
ดีไม่ดีแม่ ๆ ให้เราได้ลองทำสบู่เอาไปใช้เองเลย เป็นสบู่ขมิ้น ส่วนผสมแม่เตรียมให้ หน้าที่คือทำตามที่แม่บอก แล้วสบู่จะออกมาดีเอง
หลังจากปั่นจักรยานมาหลายวัน วันนี้ไปหลอกล่อเด็ก ๆ ในหมู่บ้านนั่งรถอีแต๊กไปดูพระอาทิตย์ตกหลังภูเขา
นั่งไปก็เฮฮากันไป แถมมีการร้องเพลงเล่นกันด้วย
ด้วยความเร็วของรถอีแต๊กเฉลี่ย 20km/h
ทำให้เรามีเวลานั่งคุยนั่งเล่นกับน้อง ๆ และปีใหม่ในระหว่างทางมากขึ้น
พระอาทิตย์ตกที่ตั้งใจจะไปดูในทุ่งนา ก็ลับไประหว่างอยู่บนรถ
แต่มันกลับประทับใจเรายิ่งกว่า
จะมีกี่ครั้งในชีวิต ที่จะได้ดูพระอาทิตย์ตกบนรถอีแต๊กแบบนี้กัน
Day 5
การมาอยู่ต่างจังหวัดทำให้เราตื่นเช้าขึ้นแบบไม่รู้ตัว
ทั้งที่ปกติเวลาอยู่กรุงเทพอยากจะนอนต่อ ไม่อยากจะลุก ตื่นไปไหนเลย
วันนี้เราจะแวะไปบ้านคุณตาตรงปากซอย
แกทำพวกของสาน ทั้งสานกระติ๊บข้าวเหนียว สานพัด สานของเล่น
ที่เด็กสมัยนี้น้อยคนที่น่าจะทัน แน่นอนว่าเด็กกรุงอย่างเรา ไม่เคยเล่นสักอย่าง
คุณตาสอนเราสานพัดรูปหัวใจ สอนไปสอนมา ตาบอก เอ้านี่ พัดทรงใบโพธิ์
โอโห้ จินตนาการเราอินเลิฟมาก มองใบโพธิ์เป็นหัวใจ
และคุณตาก็สอนการสานเป็นตัวกบให้ปีใหม่ สาวภูฏาน ผู้กลัวกบ
ที่บ้านภูมีผ้าฝ้ายทอมือ ที่ทำทุกกระบวนการเองตั้งแต่เริ่มต้น
ตั้งแต่ปลูกฝ้าย เก็บฝ้าย ทอเป็นเส้นด้าย จนถึงทอเป็นชุด
ขั้นตอนการทำด้ายฝ้าย แม่ ๆ ก็สอนและทำให้เราดู เอาเมล็ดฝ้ายออก ตีฝ้าย ปั่นฝ้าย
ที่บอกเลยว่าโคตรยาก เห็นแม่หมุน ๆ ล้อ ดึงฝ้ายไป ๆ มา ๆ เอ้าดูง่าย
ลองทำบ้างเท่านั้นแหละ ขาดแล้วขาดอีก หมุนไปหมุนมาอย่างกับจะประกาศลอตเตอรี่ เลขที่ออกxxxxxx
จากทำด้ายฝ้ายก็ไปดูแม่ ๆ ทอผ้ากัน
ผ้าที่ทอส่วนใหญ่ก็จะผ้าฝ้าย กับผ้าไหม
แม่บอกทำมาสามสิบกว่าปีแล้ว ในใจเราคือคนเราจะอยู่กับบางอย่างได้เป็นสามสิบปีโดยไม่เบื่อได้ยังถ้าเป็นเราจะอยู่กับอะไรได้นานแบบแม่ ๆ ไหมนะ
ตกอยู่ในห้วงความคิดโหมดซึ้งได้ไม่นาน
แม่ก็เล่าว่าได้ผู้บ่าวจากการทอผ้านี่แหละ ทออยู่บ้านผู้บ่าวทำนาเสร็จก็แวะมาหามานั่งคุย
แถมมีการบอกว่าถ้าชอบผู้บ่าวก็ลุย อย่าทำเป็นเขิน
หนูจะน้อมนำคำสอนของแม่ และเชื่อฟังเต็มที่ค่ะ
เย็นวันสุดท้ายของการอยู่ที่บ้านภู
ตั้งใจไปปั่นจักรยานเล่นกับปีใหม่ทิ้งท้าย ก่อนที่จะต้องกลับกรุงเทพกัน ระหว่างทางเจอก๊วนเด็ก ๆ
ไป ๆ มา ๆ ไม่ได้ปั่นกันสองคนและ เด็ก ๆ ตามมาปั่นด้วยกัน พ่วงมาด้วยพี่กุ๊กไก่ หัวหน้าแก๊งนำทาง
ไหน ๆ วันนี้ก็จะได้ปั่นจักรยานกันวันสุดท้าย
พี่กุ๊กไก่จัดให้ พาไปทางแอดเวนเจอร์ บุกนา ลุยสวน ผ่านทางลูกรังกันเลยทีนี้
แต่สนุกมาก ได้ลุยทางถนนเล็ก ๆ บรรยากาศทุ่งนาสองข้างทาง ส่วนด้านหลังเป็นภูเขา
ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีโอกาสมาทำอะไรแบบนี้อีก น้ำตาจะไหล
ซึ้งหรอ?
เปล่า
ปั่นไม่ไหวแล้ว ทางชันเหลือเกิ๊นนนนนนนนนน
Day 6
เช้าวันสุดท้าย
ที่ตื่นเช้าที่สุดดดดดดดดดดดดดด
เราตื่นมาตั้งแต่ตีห้า แม่มาปลุกเรียกบอกให้ตื่นเตรียมตัวเดี๋ยวจะไปใส่บาตรไม่ทัน
ด้วยความเพลียจากการไปปั่นจักรยานลุยทุ่งกับเด็ก ๆ เมื่อวาน ทำให้เราแทบไม่อยากลุกไปไหนทั้งนั้น
แต่ด้วยโสดประสาทสมองสั่ง บอกว่าที่นี่เป็นวันสุดท้ายแล้วจงลุกขึ้นมาซะ!
หลังจากล้างหน้าแปรงฟันก็แต่งตัวไปใส่บาตรข้าวเหนียวที่หน้าหมู่บ้านกัน
ที่นี่จะใส่บาตรด้วยข้าวเหนียว ปั้นเป็นก้อนพอดีคำ ส่วนพวกอาหาร ขนม ก็จะเอาไปถวายที่วัด
ไม่ได้ตื่นมาใส่บาตรพระตอนเช้าแบบนี้นานขนาดไหนแล้วนะ
มั่นใจว่าเกินหนึ่งปีได้ แค่ตื่นขึ้นมาทำงานก็ยากแล้ว ตื่นมาใส่บาตรต่อ คนอย่างเราแทบไม่ทำในกรุงเทพ
ได้มาเห็นแม่ ๆ ใส่บาตรตอนเช้ากันอย่างคึกคัก
พอเสร็จจากใส่บาตรเช้าก็กลับบ้านไป
นอน
นอนต่อได้แปปนึงก็ถึงเวลาต้องเก็บกระเป๋าเตรียมตัวกลับกรุงเทพ
เรามารวมตัวที่ลานวัฒนธรรมอีกครั้ง
มีพ่อ ๆ แม่ ๆ และเด็ก ๆ มาอำลาส่งเรา เหมือนอย่างตอนมาถึง
ไม่ว่าจะมา หรือจากไป ทุกคนพร้อมเต็มใจมารับและส่งเรา
ได้พูดคุยกับทุกคนอีกครั้ง ร่ำลา ถ่ายรูปด้วยกัน
หมดเวลาการเป็นเด็กบ้านนอกชั่วคราวของเราแล้ว
คุณอยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเองไหม
เราอยากมีบ้านนอกเป็นของตัวเอง
จริงอยู่ว่าเรามาในโครงการที่เป็นกิจกรรมของชุมชน
แต่ที่นี่ให้อะไรเรามากกว่ากิจกรรมชุมชน ที่นี่ให้ความอบอุ่น ให้ประสบการณ์ ให้เรื่องเล่า
และให้เรามีเรื่องเล่าใหม่ ๆ ในชีวิต
6 วัน 5 คืนที่คิดว่ายาวนาน ไม่นานไปเลยสำหรับที่นี่
เราเหมือนได้ครอบครัวใหม่
ทุกคนต้อนรับและดูแลเราเป็นอย่างดีเหมือนเราเป็นลูกหลานเขา
เราเชื่อเสมอว่าการท่องเที่ยวที่ดี ไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณภาพ
การจัดการกิจกรรมในชุมชนก็เช่นกัน
พอเรามีเวลาที่มากขึ้นนอกเหนือกิจกรรมที่จัดไว้ เราจะเห็นความเป็นธรรมชาติของชุมชนนั้นมากยิ่งขึ้น
บ้านภูอาจจะไม่ได้มีอะไรโดดเด่นแตกต่างจากชุมชนอื่น
แต่พอเราได้เห็นความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่
เรามั่นใจแล้วว่าตอนนี้
เรามีบ้านนอกเป็นของตัวเองแล้วนะ
ที่นี่ บ้านภู มุกดาหาร.
________________________
ข้อมูลการติดต่อชุมชนบ้านภู
Line id: 0894161201
Email: [email protected]
Tel : +66952123612,+66810474218
FB : Weeranuch weeranuchs (พี่ปิ๊ก)