สัมผัสมนต์เสห่น์ “ชุมชนบ้านบางพลับ” ชุมชนต้นแบบธรรมชาติดั้งเดิม
สวัสดีครับ ครั้งนี้เราจะพามาเที่ยวชุมชนหนึ่ง เป็นชุมชนที่อยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามกัน นั่นก็คือ ” ชุมชนบ้านบางพลับ ” นั่นเอง ชุมชนนี้เป็นชุมชนต้นแบบของการสร้างอาชีพเลยนะจะบอกให้ ภายในชุมชนจะประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำสวนแบบยกร่องโดยใช้ระบบน้ำขึ้น น้ำลง เช่น ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวโหญ่ ซึ่งเป็นส้มโอขึ้นชื่อของชุมชนบ้านบางพลับนี้เลย เนื้อส้มโอ หอม หวาน กรอบมากกกกก และยังมี กล้วย มะม่วง ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมลำเจียก และมะพร้าวอ่อน ที่สำคัญชุมชนบ้านบางพลับนี้ทำเกษตรแบบธรรมชาติดั้งเดิม โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้นเลยด้วย
คือจะบอกว่าชุมชนบ้านบางพลับนี้ยึดหลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาแต่ช้านานแล้ว จนได้รับคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นอีกด้วยอ่ะเอาดิ๊
นี่ก็เกริ่นมาเยอะแล้ว เดี๋ยวเราจะพาไปดูว่าชุมชนบ้านบางพลับ จังหวัดสมุทรสงครามนั้นมีดีอะไร ทำไมถึงต้องมาสัมผัสชุมชนนี้กันให้ได้
.
ครั้งนี้เราไปอยู่ชุมชนบ้านบางพลับประมาณ 6 วัน ครั้งนี้เราไม่ได้ไปคนเดียว เราไปพร้อมกับบัดดี้เรา 1 คนซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ฮ่าาาาๆ คือแกรรรร์ภาษาอังกฤษเราก็งูๆปลาๆอ่ะ แล้วนี่แบบ… เออเอาหว่ะ ต้องรอดดิเห้ย ฮ่าาา โชคดีที่มีพี่อีกคนที่เป็นไกด์แกเก่งภาษาอังกฤษไปด้วย เลยให้แกสื่อสาร และนางบัดดี้เราชื่อ ” ลอเรน ” ทริปนี้เราจะเล่าเป็นวันต่อวันเลยนะ ติดตามเข้ามาอ่านกันได้เรื่อยๆ เลย
DAY 1 24/07/2019
เรา 2 คนนัดพร้อมกับพี่ไกด์เจอกันที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ถ้าจะไปชุมชนบ้านบางพลับ จ.สมุทรสงคราม ต้องเดินทางโดยรถไฟเราว่าขึ้นที่สถานีนี้สะดวกสุดแระ เดินทางจากสถานีวงเวียนใหญ่ไปถึงสถานีรถไฟมหาชัย ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. และลงเรือข้ามฟากท่าฉลอมไปต่อรถไฟบ้านแหลม เพื่อไปลงที่สถานีปลายทาง คือสถานีรถไฟแม่กลอง ทั้งหมดตั้งแต่สถานีวงเวียนใหญ่จนถึงสถานีรถไฟแม่กลองใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ได้
มาถึงสถานีรถไฟแม่กลองเวลาบ่ายสองโมงครึ่งเกือบบ่ายสาม เราหาอะไรทานกันระหว่างรอรถไฟกลับเวลา 15.30น. เพราะจุดนี้เรียกได้ว่าเป็น Unseen Thailand เลย นั่นคือตลาดร่มหุบ เราถามลอเรนว่าเคยเห็นไหม นางบอกเคยเห็นแต่ทางอินเตอร์เน็ต มาเห็นของจริงซึ่งมันว้าวววมากสำหรับนาง คือมัน Amazing มากกกนางก็หามุมถ่ายของนางไปเรื่อย เราก็หามุมของเราไป พอได้เก็บบรรยากาศมาบ้าง
หลังจากรถไฟกลับไปสถานีบ้านแหลมแล้ว เราก็โทรหาพี่โต้งให้มารับ พี่แกเป็นหัวหน้าชุมชนบ้านบางพลับซึ่งจะพาเราทำกิจกรรมภายในหมู่บ้านทั้งหมด 6 วันเต็มๆ
มาถึงที่พักเราก็ไม่รีรอที่จะเก็บสัมภาระเข้าห้อง แล้วออกมาทานอาหารเย็นกัน จากสถานีรถไฟแม่กลองมาถึงที่พักใช้เวลาไม่นานเลย และมื้อเย็นวันนี้ทานง่ายๆ สบายๆตามวิถีชาวบ้าน มีไข่เจียวปู , ต้มยำไก่ และผัดผักใส่กุ้งแม่น้ำ ลงมือทำโดยคุณแม่พี่โต้ง แกชื่อแม่แอ๊ว อาหารมื้อนี้ถ้ามองผ่านๆก็ดูธรรมดาๆ แต่ความธรรมดานั้นมันสุดยอดมากอร่อยทุกอย่าง ลอเรนยังชอบ นางบอกอร่อยไม่เคยลองรสชาติอาหารไทยพื้นบ้านมาก่อน เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นางมาเยือนประเทศไทย
อิ่มกันไม่นานก็นั่งเม้าส์มอยความเป็นมาของชุมชนกันนิดหน่อยก่อนแยกย้ายกันเข้านอน เพราะพรุ่งนี้มีกิจกรรมรอเราอยู่แต่เช้าคือตักบาตร
DAY 2 25/07/2019
ตื่นเช้ามาพร้อมกับความงัวเงียต้องลุกไปใส่ตักบาตรตอนตี 05.50น. พร้อมกับลอเรน เจ้าบ้านได้เตรียมอาหารไว้สำหรับตักบาตรให้เราเรียบร้อย ไม่นานพระสามรูปก็มา ตักบาตรเสร็จก็เตรียมตัวอาบน้ำลงมาทานอาหารเช้า พร้อมกับรอฟังประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านบางพลับว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ประวัติของชุมชนบรรยายโดยคุณพ่อสมทรง แสงตะวัน ซึ่งเป็นประธานชุมชนบ้านบางพลับ และคุณพ่อสมทรงยังเป็นคุณพ่อของพี่โต้งหัวหน้าชุมชนด้วย เชื้อไม่ทิ้งแถวกันเลยจริงๆครอบครัวนี้ ฮ่าาาๆ
ลอเรนนางตั้งใจดูสไลด์มาก โดยมีพี่ลักกี้เป็นไกด์คนสวยแปลอังกฤษตามให้ฟังอีกที
คุณพ่อสมทรงบรรยายประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านบางพลับ เหมือนที่เรากล่าวไว้ตอนต้นเรื่องไปแล้ว และกิจกรรมครั้งนี้มีทั้งหมด 20 กิจกรรมด้วยกัน ใช่แล้ว 20 กิจกรรม! แต่สำหรับเรา 2 คนทั้ง 6 วันนี้เราทำกันประมาณ 9 กิจกรรม ตามไปดูกันว่ากิจกรรมแรกของวันนี้เรา 2 คนจะทำอะไรกัน
และกิจกรรมแรกของวันนี้เลยคือการทำน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวถ้าความเข้าใจเราๆก็คือน้ำตาลปึก หรือน้ำตาลปี๊บนั่นแหละ แต่มีขนาดที่เล็กกว่าสามารถนำไปประกอบอาหาร หรือทำขนนหวานได้ แต่ก่อนที่มันจะมาเป็นน้ำตาลมะพร้าวได้มันต้องทำไงอ่ะ อันนี้เราก็ไม่รู้นะ ฮ่าาๆ คุณพ่อสมทรงบอก “ปะไปสวนกันเลย” แม่แอ๊วแกรออยู่
เราไปสวนมะพร้าวของคุณลุงสมทรงโดยปั่นจักรยานไป สวนอยู่ไม่ไกลกับบ้านมาก ประมาณ 200 เมตรก็ถึงแล้ว
ถึงสวนคุณแม่แอ๊วก็ขึ้นมะพร้าวโชว์สาธิตการนำน้ำหวานจากงวงมะพร้าวก่อนเลย ก็คือว่าต้นมะพร้าวเนี่ย มันจะมีดอกมะพร้าว หรือเรียกอีกอย่างว่างวงมะพร้าว เราต้องตัดตรงงวงมะพร้าวประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อเอาน้ำหวานจากต้นมะพร้าวมาทำน้ำตาลมะพร้าว งงไหมไม่งงนะ ฮ่าาาๆ แล้วใช้กระบอกครอบไว้ที่งวงมะพร้าว น้ำหวานจากต้นมะพร้าวมันก็จะไหลลงกระบอกนั่นเองเลย
อันนี้เอาฮา เกาะต้นมะพร้าวเป็นกำลังใจให้แม่แอ๊วตอนแกสาธิต ฮ่าาาาาๆ
ทีนี้คุณแม่แอ๊วก็ให้เราลองขึ้นไปทำบ้าง ลองดูว่าจะทำได้ไหม โดยมีลอเรนบัดดี้เราค่อยให้กำลังใจอยู่ข้างล่าง
ตรงงวงมะพร้าวเนี่ยมันจะมีน้ำหยดลงมา ซึ่งมันก็คือน้ำหวานจากต้นมะพร้าวนั่นแหละ คุณแม่แอ๊วบอกให้ลองชิมดูว่ามันหวานจริงมั๊ยเราก็ลองนะ เห้ย! มันหวานจริงๆหว่ะ ส่วนนี้แหละที่นำไปทำน้ำตาลมะพร้าว
หลังจากได้น้ำหวานจะต้นมะพร้าวแล้ว ก็กลับมาที่บ้านเพื่อทำขั้นตอนต่อไป แต่…. ยังไม่ได้กลับ ไหนๆมาสวนมะพร้าวแล้ว เราจะต้องชิมน้ำมะพร้าวจากสวน ชิมกันสดๆไปเลย โดยคุณแม่แอ๊วไปยักมะพร้าวลงมาปลอกให้ชิม (คือบ้านเราเรียกว่ายักมะพร้าวอ่ะนะ ไม่รู้ที่อื่นเรียกงี้รึป่าว ฮ่าาา)
มะพร้าวร่วงลงมาคุณแม่แอ๊วก็ไม่รีรอ จับอีโต้เฉาะมะพร้าวเอาน้ำกับเนื้อมาให้เรากับลอเรนชิม
คือน้ำมะพร้าวหวานนะ เนื้อก็นุ่มอร่อยมาก ทั้งสวนนี้ไม่ใช่ต้นมะพร้าวน้ำหอมนะจ๊ะ เป็นต้นมะพร้าวอ่อน เราว่ารสชาติน้ำมะพร้าวกับเนื้อของสวนนี้ รสชาติพอๆกับน้ำจากมะพร้าวน้ำหอมเลยอ่ะ คือต้องมาลอง ลอเรนยังบอกว่าแซ่บอีหลี!
และนี่ขอนำเสนอเลยช้อนตักเนื้อมะพร้าว ทำจากเปลือกมะพร้าวนี่แหละ ตักกินได้เลยภูมิปัญญาสุดๆ เราก็เพิ่งจะเคยเห็นนี่แหละ Amazing เว่อร์
พอจะกลับคุณแม่บอกจะรีบกลับไปไหน ไปสวนส้มโอก่อนนนน อยู่ใกล้ๆสวนมะพร้าวนี่เอง คุณพ่อสมทรงแกรออยู่ในสวนแล้วววว เราก็เลยต้องไปชมสวนส้มโอกันก่อน
คุณพ่อสมทรงได้สอนการชำกิ่ง ตอนกิ่ง โดยครั้งนี้เราส่งให้ลอเรนเป็นผู้ลงมือทำบ้าง เพราะตอนอยู่สวนต้นมะพร้าวให้นางขึ้นมะพร้าวนางไม่ขึ้น รอบนี้เลยต้องสลับกัน ฮ่าาาา
โดยการตอนกิ่งคุณพ่อจะเป็นคนสาธิตก่อน ขั้นตอนก็ตามลำดับรูปเลย 1.เราต้องใช้มีดควั่นกิ่งก่อน หรือปลอกเอาเปลือกนอกออก 2.ใช้มีดขูดเอาเยื่อออกถ้าไม่ขูดออกลากจะไม่งอก 3.นำถุงขุยมะพร้าวแบบละเอียดมาหุ้มพร้อมมัดเชือก 2 เส้น 4.ประมาณ 1 เดือนลากจะงอกเราสามารถตัดเพื่อไปเพาะเลี้ยงขั้นอนุบาลต่อไป
หลังจากตอนกิ่งกันแล้วคุณพ่อก็ให้ลองปลูกต้นส้มโอ โดยให้ลอเรนเป็นคนปลูกเองเลย
ก่อนกลับไปทำน้ำตาลมะพร้าว เราก็ต้องชิมส้มโอดังกันก่อน คือทั้งสวนเป็นส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ทั้งหมด โดยคุณพ่อสมทรงเป็นคนปลอกให้
อือหืออออ ลูกบักใหญ่! จะบอกว่าเนื้อขาวนวลกรอบมาก รสชาติก็หวานด้วย ของดีของชุมชนบ้านบางพลับมาแล้วต้องลองงงงง!
ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่เป็นสินค้า OTOP ของชุมชน และยังได้รับมาตรฐานจาก GI (Geographical Indication) หรือเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์เฉพาะที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งที่อิงไปถึงตำแหน่งหรือจุดเริ่มต้นทางภูมิศาสตร์ เช่นส้มโอนี้มีน้ำเลี้ยงโดยมีด้วยกัน 3 น้ำ มีน้ำจืด น้ำทะเล และน้ำกร่อย ใช้ขี้แดดนาเกลือเป็นปุ๋ย จึงทำให้ส้มโอมีรสชาติที่ดีเยี่ยมไม่เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ คือมันหวานกรอบจริงๆอ่ะ! ไม่รู้จะหาคำไหนมาอธิบาย ต้องมาลองเอง
ลุยสวนแล้ว กินน้ำมะพร้าวพร้อมเนื้อแล้ว ชิมส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่แล้ว เรากลับไปทำน้ำตาลมะพร้าวกันที่บ้านต่อ โดยการทำน้ำตาลมะพร้าวนี้พี่แอนลูกบ้าน จะเป็นคนสาธิตให้เราดู ขั้นแรกเลยต้องกรองน้ำหวานมะพร้าวออกจากสิ่งสกปรกก่อน เราให้ลอเรนเป็นคนจัดการ ฮ่าาาาๆ
ต่อไปก็นำน้ำหวานมะพร้าวไปเคี่ยวในกระทะบนเตาอั้งโล่ขนาดใหญ่ เคี่ยวไปเรื่อยๆจนมีฟองสีขาว
นอกจากฟองสีขาวแล้วจะมีฟองสีดำ พี่แอนก็ให้เราใช้อุปกรณ์ตักฟองดำออก
ได้ที่แล้วก็ยกจากเตาอั้งโล่มาไว้ข้างนอกเตา เพื่อเคี่ยวต่อให้น้ำตาลมะพร้าวมันเกิดฟอง จากนั้นค่อยนำไปหยอดในถ้วยให้ขึ้นรูปสวยงามเพื่อส่งขายต่อไป
นี่ไง เริ่มหยอดกันแล้วววววว
รอจนน้ำตาลมะพร้าวจับตัวเป็นก้อนได้ไม่นาน ก็ดึงออกได้เลย อันไหนไม่ที่สวยเราบอกเลยอันนั้นไม่ของเราก็ของลอเรนอ่ะ ฮ่าาาา
เสร็จกิจกรรมแรก ต่อไปเป็นกิจกรรมที่สองคือการทำ “ขนนรังไร” เป็นขนมไทยโบราณ แต่ก่อนจะไปทำกิจกรรมที่สองเราต้องเติมพลังกันก่อน และเหมือนเดิมมื้อเที่ยงนี้ทานอาหารกันตรงที่พักนั่นแหละ เป็นแกงมัสมั่นไก่, ปลากระพงต้มส้ม, ซุบมันฝรั่ง จ้าาาา
กิจกรรมที่สองคือการทำขนมรังไร ขนมไทยโบราณ ซึ่งเราต้องปั่นจักรยานไปที่บ้านแดง แกจะเป็นผู้สาธิตการทำขนมในครั้งนี้
ขนมรังไร มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน อย่างน้อยต้องมีอายุถึงเกือบ 200 กว่าปี ซึ่งคาดเดาได้ว่า น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากในพระราชสำนัก เพราะพบปรากฏอยู่ในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานในสมัยรัชกาลที่ 2 นั่นเอง! ปัจจุบันหากินได้ยากมากกกก หรือแทบจะหากินไม่ได้เลย เพราะวิธีการทำและส่วนผสมของขนมนั้น ค่อนข้างจะต้องมีความพิถีพิถันในการทำเอามากๆ ซึ่งหากใครได้รู้ถึงวิธีการทำแล้วคงจะต้องร้องอ๋อ และคิดในใจขึ้นมาทันทีว่า มิน่าล่ะ ทำไมถึงหากินได้ยากจัง
มีส่วนผสมมาจาก แป้ง กะทิ มะพร้าว และน้ำตาล และใช้สีในการตกแต่งอาหารเพื่อให้ดูสวยงาม โดยใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีเขียวก็ใช้สีจากใบเตย ถ้าเป็นสีม่วงก็ใช้สีจากดอกอัญชัน นำแป้งใส่กระทะคนให้จับตัวเป็นก้อน การทำเส้นรังไรนั้น เริ่มจากการผสมแป้งข้าวเจ้ากับน้ำ คนจนละลายดีเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วหยอดสีจากธรรมชาติลงไปพอให้มีสีอ่อนนวล และคนต่อให้เข้ากันอีกรอบ นำแป้งผสมแล้วลงในกระทะ กวนด้วยไม้พายพอให้สุกๆ ดิบๆ เสร็จแล้วจึงนำแป้งมานวดต่อจนนิ่ม
นำแป้งมานวดเพื่อไม่ให้แป้งติดมือ ถ้านำแป้งไปอัดแบบเลยไม่ได้นวด มันจะออกมาเป็นอะไรที่เละมาก และเส้นรังไรจะไม่ออกมาเป็นเส้นๆ
จากนั้นนำแป้งมาปั้นเป็นก้อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ การอัดขนมเพื่อให้ได้รังไรเส้นเล็กๆ สวยงาม จะทำได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่ที่ความเร็วของคนอัดนี่แหละ ฮ่าาา
หน้าออกมาก็จะประมาณนี้เลย สวยงามมากกกก ลอเรนสนุกกับการอัดเส้นรังไรมาก ฮ่าาาๆ
เสร็จแล้วก็นำไปนึ่งอีกประมาณ 4-5 นาที จากนั้นก็นำมาใส่เครื่องทานได้เลย เครื่องสำหรับทานขนมรังไรจะมี งาขาวคั่ว และมะพร้าวทึนทึกขูดฝอยนึ่ง แล้วราดด้วยน้ำกะทิ จากนั้นคลุกเคล้าพร้อมเอาเข้าปากได้เลยจ้า
ป้าแดงบอกว่าเคล็ดลับการกินขนมรังไรให้ได้อร่อยนั้น ต้องใส่เครื่องให้เยอะๆหน่อย ราดน้ำกะทิให้ชุ่มๆ อย่ากินแบบแห้งๆ เพราะเดี๋ยวจะไม่ถึงเครื่อง และที่สำคัญมากๆ คือ ต้องพยายามกินให้หมดภายในวันเดียว ไม่ควรทิ้งไว้ค้างคืน แต่ถ้ามีความจำเป็น หรือทำไว้ในปริมาณมากจะแบ่งไว้กินอีกวัน ก็ควรจะเอากะทิกับมะพร้าวขูดแช่ในตู้เย็น ส่วนเส้นขนมรังไรจะแข็งไม่อร่อยถ้าค้างคืน วิธีการแก้ไขโดยการนำไปอุ่นด้วยการนึ่ง พรมน้ำนิดๆ แต่อาจจะแฉะกว่าวันแรกที่ทำมา แต่ยังไงก็คงจะสู้ได้กินขนมรังไรแบบสดๆ ใหม่ๆ ไม่ได้แน่นอน
และที่ขาดไม่ได้เลยต้องทานควบคู่กับน้ำอัญชัน ใครจะทานแบบรสหวานก็ได้ หรือใครชอบรสหวานอมเปรี้ยวก็บีบน้ำมะนาวใส่ได้เลย ถ้าบีบมะนาวใส่น้ำอัญชันมันจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีม่วงเพอร์เฟคไปอีก ลอเรนบัดดี้เรานางชอบมากกก คือมันว้าวมาก เพราะนางไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้
มาต่อกิจกรรมที่สามเป็นการทำแกงกะลากรุบ เป็นอาหารไทยท้องถิ่นของชุมชนบ้านบางพลับ ซึ่งก็จะเป็นอาหารมื้อเย็นของวันนี้ด้วย แกงกะลากรุบทำออกมาจะหน้าตาจะคล้ายผัดพริกแกง มีกุ้ง มีเนื้อกะลาอ่อนอยู่ในเครื่องของแกงด้วย เริ่มต้นด้วยป้าดำซึ่งเป็นพี่น้องกับป้าแดงจะเป็นคนสาธิตให้เราสองคนดู ส่วนผสมก็จะมี ตะไคร้, พริกหยวก, ขิง, ข่า, มะกรูด, ใบกระเพรา, กระทิ, พริกแกงสูตรเฉพาะ และกุ้งแม่น้ำที่หาได้จากคลองข้างบ้านป้าดำ กุ้งนี่ไม่ใช่กุ้งเลี้ยงนะจ๊ะ คือที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งสวนผลไม้ สวนผัก และคลองที่มีปลา กับกุ้งแม่น้ำ
กะลากรุบที่กริ่นไปนั้นก็คือ“ กะลามะพร้าวอ่อน ” ที่ยังไม่แข็งตัว เอามาซอยเป็นชิ้นบางๆแล้วนำไปล้างกับน้ำเกลือเล็กน้อย จากนั้นนำมาผัดกับพริกแกงพร้อมเครื่อง
หน้าตาของ “แกงกะลากรุบ” ก็จะเป็นแบบนี้ นี่แหละอาหารมื้อเย็นของเรา ฮ่าาา เนื้อกะลากรุบเมื่อสุกแล้วทานเข้าไปจะกรุบๆ มีรสจืดเจือฝาด ทานเปล่าๆก็อร่อยได้ นำไปทำได้ทั้งกับขนมจีน และแกงต่างๆอีกด้วย
มื้อเย็นวันนี้นอกจากแกงกะลากรุบแล้ว ก็มีปลากระพงทอดน้ำปลา และต้มปลาอีกเมนู จ๊วดดดมากจ้ามื้อนี้
ระหว่างที่เราทานอาหารมื้อเย็นกันอยู่คุณพ่อสมทรงก็บรรเลงเพลงไทยให้ฟัง บรรเลงเพลงโดยใช้ซอที่ทำการกะลามะพร้าวของที่นี่ โดยมีน้องอลิสนั่งอยู่ข้างๆ น้องอลิสก็คือลูกของพี่โต้งหัวหน้าชุมชนบ้านบางพลับนี่เอง พ่อแกเล่นไพเราะมากนะบอกเลย เราไม่ได้ฟังอะไรแบบนี้มานานแล้วเหมือนกัน
DAY 3 26/07/2019
เช้าวันนี้ตื่นสายได้เพราะเรามีนัดกับพี่โต้งตอน 09.00น. เพื่อไปทำกิจกรรมที่สี่ คือกิจกรรม CSR ปลูกป่าชายเลนที่คลองโคน ความหมายของ Corporate Social Responsibility (CSR) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งคือการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งในระดับไกลและใกล้ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ปะเราไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง
จุดแรกของการนั่งเรือพี่คนขับจะพาไปปลูกต้นโกงกางก่อน ตรงนี้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ผ่านป่าโกงกางมาได้ไม่นานก็เจอลิง ลิงที่นี่จะอาศัยอยู่ตามต้นโกงกาง หากินโดยการหาปู หาหอยกิน ตามระบบวิเวศของธรรมชาติ ถ้าไปปลูกต้นโกงกางเราแนะนำเลยนะว่าอย่าให้อาหารลิงเป็นอันขาด! ไม่งั้นมันจะเคยตัว จนหาอาหารกินเองไม่เป็น คือแค่นั่งเรือเข้าไปมันเห็นเป็นถุงพลาสติกก็จะเข้าแย่งแล้ว เพราะมันเข้าใจว่าในถุงพลาสติกนั่นมีอาหารสำหรับมัน
มาถึงจุดปลูกต้นโกงกาง ไม่รีรอจ้ารีบลงเลย พี่คนขับเรือก็สาธิตการปลูกให้ดูก่อน ปลูกโดยที่ไม่ต้องใช้มือ ให้เอาส้นเท้าเรานี่แหละ ดันเลนให้เป็นหลุมแล้วใช้เท้าเขี่ยเลนกลบอีกที ง่ายๆ easy มากกก
มีความโคลนดูด
หลังจากเสร็จกิจกรรมปลูกต้นโกงกางแล้ว เราไปทานอาหารกลางวันกันที่กระเตงกลางทะเลโคลน เราเก็บบรรยากาศมาฝากนิดหน่อย
ถึงแล้วกระเตงของเรา เดี๋ยวมาดูกันว่าวันนี้จะมีเมนูอะไรบ้าง
วันนี้มีเมนู ไข่เจียว, ต้มยำปลาคัง, ปลากระพงทอดน้ำปลา, กุ้งแม่น้ำ และปลาหมึกผัดฉ่า สำหรับเราชอบที่สุดคือปลากระพงทอดน้ำปลา คือปลาเนื้อมันแน่นมากอ่าแกร์เอ้ย กรอบนอกนุ่นในสุดฟินจริงๆ อย่างอื่นก็อร่อยไม่แพ้กันนะ กับข้าวเยอะมากไปกัน 5 คนทานกินไม่หมดอ่ะ
อิ่มก็นั่งเล่นอยู่ที่กระเตงกันสักพักก่อนจะออกไปหาหอยด้วยไม้กระดานที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน จะบอกว่าบนกระเตงลมเย็นมากเหมาะแก่การพักผ่อนจริงๆ นั่งอยู่ที่เปลผ้าใบจะหลับให้ได้เลยอ่ะ บรรยากาศโคตรดี
พักกันได้ไม่นานก็ออกไปหาหอย เป็นหอยแครงที่อยู่ในเลน หรือในโคลนนั่นแหละ ใช้ไม้กระดานสไลด์หา พี่คนขับเรือก็สาธิตให้เรากับลอเรนดูก่อนว่าต้องทำยังไง
พอเข้าใจกันแล้ว เราให้ลอเรนลองสไลด์ดูก่อนเลยจ้า เราดูนางสไลด์ไม้กระดานก็ฮานะ แต่ก็เอ็นดูนาง ดูนางสนุกมากๆ เพราะประเทศนางไม่มีแบบนี้ ฮ่าาา
มาถึงตาเราบ้าง ลองเล่นดูก็เหนื่อยเหมือนกันแฮะ ไม่ง่ายเลย แต่สนุกนะดูหน้าเราดิ
ถามว่าได้หอยแครงกันไหม บอกเลยว่า….. ได้สิ ฮ่าาาาๆ ลอเรนไม่ได้มาเล่นๆนะค๊าบบบบ ได้มาเยอะกว่าเราซะอีก เหมือนนางเป็นคนที่นี่อ่ะ ฮ่าาาาๆ
ได้เวลากลับที่พักกันแล้ว เก็บภาพระหว่างทางมาให้ชมด้วย
มื้อเย็นวันนี้จะเป็น ปลาทูแม่กลองทอด, ผักต้ม, น้ำพริกกระปิ, ไก่ทอด และแกงผักอะไรสักอย่างเราจำชื่อไม่ได้
DAY 4 27/07/2019
เช้านี้เราไปกันที่ “ตลาดน้ำท่าคา” ตลาดน้ำนี้จริงๆแล้วเปิดมาก่อนตลาดน้ำอัมพวาได้ประมาณ 100ปีมาแล้ว ตลาดน้ำอัมพวานั้นเมื่อก่อนเป็นแค่ตลาดที่อยู่บนบก ยังไม่ได้เป็นตลาดน้ำที่เห็นอย่างปัจจุบัน เพิ่งจะมาเป็นตลาดน้ำอัมพวาได้เมื่อตอนปี พ.ศ.2548 เอง ตลาดน้ำท่าคาอยู่ในตำบลท่าคาเลยใช้ชื่อว่าตลาดน้ำท่าคา ผู้ใหญ่บางท่านก็บอกว่า เมื่อสมัยก่อนนี้เรือค้าขายมีมากมายกว่าปัจจุบัน จนเรือไม่มีทางไปขายของ หรือเข้าไปถึงคนซื้อได้ คือมันแน่นไปหมด แล้วเวลาซื้อของจากเรือลำอื่นที่ไม่ได้อยู่ใกล้ท่าน้ำ ก็ต้องส่งของฝากผ่านเรือลำอื่นเพื่อส่งให้ถึงมือลูกค้า จึงเรียกเป็นที่มาของตลาดน้ำท่าคา
ตลาดน้ำท่าคาถือว่าเป็นตลาดน้ำที่เล็ก แต่สเปคจัดจ้านมาก มีทั้งของกินแบบโบราณ และราคาไม่แพงด้วย เราทานก๋วยเตี๋ยวตรงสะพานขวามือถ้วยละ 25 บาทเท่านั้นเอง นอกจากของกินแล้วยังมีพืชผัก ผลไม้ต่างๆ ที่ชาวสวนนำมาขาย คือมาตลาดนี้ตลาดเดียวคุ้มเลย ทั้งอิ่ม แถมได้ของกลับไปอีก
เราคิดว่าสำหรับใครที่ไม่ชอบความแออัดวุ่นวาย ตลาดน้ำที่นี่ตอบโจทย์ที่สุดแล้ว ชาวบ้านที่พายบ้านมาขายของบางคนพายมาไกลถึง 30กิโล บางคนก็แค่ระยะใกล้ๆ แล้วเป็นชาวบ้านก็เป็นคนแก่คนเฒ่าที่พายเรือมาขายจริงๆ ตลาดท่าคาเปิดตั้งแต่เช้า ประมาณบ่ายโมงก็ปิด
คุณป้าท่านนี้แกพายมาไกลมาก จากบ้านมาตลาดประมาณ 30 กิโลเลย เห็นแกแบบนี้แกแข็งแรงมาก ถ้าเป็นเราพายระยะทางขนาดนี้คงไม่ไหว ฮ่าาาๆ
ของขายบนริมน้ำก็มีเช่นกัน
ในตลาดน้ำท่าคามีร้านกาแฟแนะนำอยู่ร้านนึง ร้านนี้ทำกาแฟแบบดริปกันสดๆ ถ้าเดินเข้าไปในตลาดจะอยู่ขวามือสุดของตลาดชื่อว่า “ร้านนิทานกาแฟ”
สำหรับสายกาแฟ ก็มีร้านนี้ร้านเดียวที่เราแนะนำ ถ้าเป็นกาแฟสดที่ดริปกันสดๆอ่ะนะ
ลอเรนนางชอบดอกบัวมาก ถึงกับต้องวิ่งข้ามฝั่งไปซื้อ ฮ่าาๆ
กลับจากตลาดน้ำท่าคา เพื่อมาทำกิจกรรมที่ห้าต่อ เป็นกิจกรรมทำ “ผลไม้กลับชาติ” ที่นี่เค้าเรียกงี้อ่ะนะ และเหมือนเดิมเราไปบ้านป้าแดง แกจะสาธิตการทำผลไม้กลับชาติให้ชิม หลายๆคนคงงงว่าผลไม้กลับชาติคืออะไร ก็คือการทำผลไม้แช่อิ่มดีๆนี่แหละ ซึ่งเอาพวกผลไม้ต่างๆ เช่น ส้มโอเดือนสาม, มะนาว, มะระ, มะระขี้นก, พริกหยวก, มะละกอ, บอระเพ็ดมาทำ จะเน้นรสขม เผ็ด หรือ เปรี้ยว แล้วแต่ผลไม้ที่นำมาทำ ผลไม้กลับชาตินี้การทำได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของป้าแดงป้าดำจนได้ทำขาย และเป็นของฝากขึ้นชื่อในชุมชนบ้านบางพลับนี้
ครั้งนี้ได้ทำแค่ขั้นตอนแรกคือการน้ำผลไม้มาทำเป็นรูปร่าง ถ้าเป็นส้มโอ มะนาวหรืออะไรต้องนำเม็ดออกก่อนถึงจะทำขั้นตอนต่อไปได้ แต่ขั้นตอนต่อไปนั้นใช้เวลาทำนานถึง 15 วันป้าแดงเลยสาธิตแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น
หน้าตาผลไม้กลับชาติก็จะเป็นประมาณนี้ ลองชิมแล้วเราว่าอร่อยนะถ้ากินบอระเพ็ดจะมีรสขมอมหวานหน่อยๆ ถ้าเป็นมะนาวจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน มาชุมชนบ้านบางพลับใครอยากจะซื้อกลับก็มีขายกล่องละ 50 บาทเท่านั้น
กิจกรรมที่หกคือ “การจักรสาน” ครั้งนี้คุณครูหมึกอยู่ใกล้โรงเรียนวัดแก่นจันทร์เป็นผู้สาธิตการสาน ที่ชุมชนบ้านบางพลับส่วนใหญ่จะมีต้นมะพร้าวเยอะมาก เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชน หรือมาดูงานก็จะสอนวิธีสาน พร้อมนำกลับไปเป็นที่ระลึกหลักๆก็จะมีหมวก ตะกร้า ครั้งนี้เราให้ลอเรนลองสานเพราะเราไม่ถนัดด้านนี้ ฮ่าาาๆ
ครั้งนี้มีน้องๆในหมู่บ้านมาแนะนำความเป็นมาก่อนลงมือด้วย เพราะวันนี้เป็นหยุดของน้องๆ
เริ่มจากการทำหมวก ลอเรนบัดดี้เรานางดูตั้งใจมากๆ
ส่วนเรานั่งมองเขาทำตาปริบๆ จะว่านั่งเอาใจช่วยก็ว่าได้ ฮ่าาา
นอกจากหมวกแล้ว ยังมีตะกร้าสานเอาไว้สำหรับใส่ผลไม้ หรือของต่างๆ
ของนางเสร็จแล้วจ้า มานะแบบสุดๆ
ยังมีปลาตะเพียน, พีระมิด และก็รูปร่างสี่เหลี่ยม เราก็ไม่รู้เรียกว่าอะไรลืมชื่อ ><”
เขาสานกันเสร็จ ก็ได้เวลาเล่นของเราแล้วล่ะ นี่พรีเซนเตอร์เครื่องจักรสานของชุมชนบ้านบางพลับ ลงอ่างมันซะเลย ฮ่าาาา
เสร็จกิจกรรมของวันนี้แล้ว กลับไปทานอาหารเย็นที่บ้านต่อ เพราะพรุ่งนี้เรายังมีอีกหลายกิจกรรมรออยู่ ทุกๆวันเมนูอาหารในแต่ละวันไม่เหมือนกัน วันนี้จะเป็น ผักสด, หลนปู, แกงส้มกุ้ง และหมูทอด
DAY 5 28/07/2019
วันที่ห้า ใกล้ถึงวันสุดท้ายแล้วเป็นอีกวันก่อนจะกลับในวันพรุ่งนี้ วันนี้เรามีกิจกรรมที่ต้องทำต่ออีก พร้อมกับไปเดินเล่นที่ตลาดน้ำอัมพวา กิจกรรมที่หกเป็นกิจกรรมแรกของวันนี้คือ การเผาถ่านผลไม้เป็นเทคนิคเฉพาะที่ครูหมึกเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง การเลือกผลไม้ที่จะทำ ใช้ผลไม้อะไรก็ได้ จะผลอ่อนผลแก่ได้หมดห้ามเอาผลไม้เน่าผลไม้สุกมาเผาเท่านั้นเอง อย่างมะนาว มะพร้าว ส้มโอ ทุเรียนฯลฯ ผลอ่อน ผลเขียวได้เบิ๊ด
จากนั้นนำมาใส่ปี๊บใส่ให้เต็มแล้วปิดด้วยใบตองไม่ให้ควันไฟจับ ปิดฝาให้ดีแล้วนำเข้าเตาเผา
แล้วค่อยๆเรียงฟืนให้มีช่องว่างน้อยที่สุดเรียงฟืนจนเต็มเตา จากนั้นจุดไฟเผาฟืน
อ่ะเล่นหน่อยๆ ฮ่าาาาๆ
เผาไหม้ทิ้งเอาไว้ราว 8 ชั่วโมงจนฟืนดับเอง เมื่อเปิดเตาออกมาก็จะได้ถ่านเชื้อเพลิง, เปิดปี๊บออกมาจะได้ถ่านผลไม้, ขี้เถ้าที่อยู่ด้านล่างนำมาร่อนเป็นผงละเอียดเอาไปเป็นส่วนผสมพอกไข่เป็ดทำเป็นไข่เค็มได้อีก ส่วนสุดท้ายของการเผาถ่านคือน้ำส้มควันไม้ที่ต้องรอให้ตกตะกอนอีก 3 เดือนก็สามารถนำมาผสมน้ำฉีดพ่นต้นไม้เพื่อไล่แมลงได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าการเผาถ่านแต่ละครั้งได้ผลผลิตหลายอย่างเลยทีเดียว
เห็นว่าเราขี้เล่นไง แกเอาเลยถ่านผลไม้มาทาหน้าเราซะเลย เออเห้ย! ถ่านผลไม้ทาไม่ติด แถมไม่เปื้อนมือด้วย
สำหรับถ่านผลไม้นี้วิธีใช้ คือการดูดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่นในตู้เย็น ในห้อง หรือในรถยนต์
การเผาถ่านผลไม้ 1 เตาจะได้ผลผลิต 4 อย่างด้วยกันคือถ่านเชื้อเพลิง, ถ่านผลไม้, น้ำส้มควันไม้และขี้เถ้าที่ใช้พอกไข่เค็ม จะได้ถ่านเชื้อเพลิง 1 กระสอบๆละ 100 บาท ถ่านผลไม้แล้วแต่ขนาด รูปร่างซึ่งราคาครูหมึกจะเป็นผู้กำหนดเองว่าควรจะมีราคาเท่าไหร่ ยกตัวอย่างสัปปะรดเผาต่อครั้งได้ 20 ลูกราคาขั้นต่ำ 30 บาทได้ 600 บาท น้ำส้มควันไม้จะได้ประมาณ 10 ลิตร บรรจุขวด 500 ซีซี ขายขวดละ 50 บาทได้ 1,000 บาท ส่วนขี้เถ้าเป็นของแถม 1 เตา จะมีรายได้ถึง 1,700 บาท ซึ่งครูหมึกมีเตาอยู่ 2 เตาจึงมีรายได้ต่อวันอย่างต่ำวันละ 3,400 บาทโดยที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย เพราะผลไม้มาจากสวนที่เขาทิ้งอยู่แล้วการเผาถ่านก็สามารถเผาได้ทุกวันเพราะกระบวนการเผาเพียงแค่ 8 ชั่วโมงเท่านั้นครูหมึกจะเผาถ่านในช่วงกลางคืน เช้าค่อยเปิดเตาดังนั้นจึงมีเวลาในช่วงกลางวันทำงานอย่างอื่นได้อีก
ต่อไปเป็นกิจกรรมที่เจ็ด คือกิจกรรมทำว่าวกับชาวบ้านชุนชมบ้านบางพลับ คนสาธิตทำว่าวให้เราดูแกชื่อลุงดม นักเลงว่าวแห่งบ้านบางพลับ และเป็นเซียนทำว่าวอันดับหนึ่งของประเทศไทย วันนี้แกจะสาธิตการทำว่าวดุ๊ยดุ่ยให้เรา กับลอเรน โดยให้เราทั้งสองลงมือทำด้วยตัวเอง
แกไม่ได้ให้เราทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกนะ ถ้าทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกวันนี้ก็คงทำไม่เสร็จ ฮ่าาาๆ ไหนจะผ่าไม้ เหลาไม้ ดัดไม้มัดเชือกให้เป็นรูปเป็นร่าง ถ้าคนทำไม่เป็นอาจใช้เวลาทำนานถึง 2 วัน แต่วันนี้ลุงแกให้ทำข้ามขั้นตอนมาเลย ตั้งแต่ขั้นตอนการทากาว และก็ตัดกระดาษแก้วติดกับตัวว่าวเลย
ลอเรนดูนางอินมาก แบะตั้งใจมากกกก
ติดกาว ตัดกระดาษเสร็จมาถึงขั้นตอนประดับว่าว โดยใช้กระดาษสีตัดเป็นรูปต่างๆมาแปะ ตัดโดยลุงดมเพราะเราตัดไม่เป็นกัน แต่แกก็สอนนะว่าต้องตัดยังไงให้ออกมาสวยงาม
หน้าตาที่ตัดออกมาก็จะเป็นแบบนี้ งานฝีมือจริงๆ!
จากนั้นก็นำมาแปะที่ตัวว่าวได้เลย ชอบตรงไหนก็ติดตรงนั้นเลยจ้า
ต่อไปเป็นการติดกระดาษแก้วตรงส่วนหัว เพื่อให้ว่าวดุ๊ยดุยมีเสียงตอนโต้ลม
ขั้นเกือบสุดท้ายเป็นการเจาะรูเพื่อร้อยเชือกว่าว ส่วนนี้จัดการโดยลุงดมของเรา
และสุดท้ายตัดผ้าติดกับท้ายว่าวดุ๊ยดุยเพื่อให้ว่าวทรงตัวตอนขึ้นว่าว จะเป็นการบาลานซ์ว่าวไม่ให้ว่าวหมุนตอนขึ้น เพราะส่วนนี้สำคัญกับตัวว่าวมาก
หลังจากทำว่าวเสร็จ ก็ลาลุงดม ลุงแกก็ให้ว่าวที่เราสองคนทำมาเป็นที่ระลึกด้วย การทำว่าวของลุงดมสร้างรายได้มาก ตัวเล็กตกตัวละ 300 บาทแล้ว ถ้าเป็นใหญ่สุดสูง 2 เมตรกว่าจะอยู่ที่ตัวละ 20,000 – 30,000 บาท บางตัวเป็นแสนก็มี แล้วแต่การทำสั่งเข้ามา จะมีว่าวจุฬา, ว่าวดุ๊ยดุย และว่าวปักเป้า ที่ลุงแกทำขาย
ก่อนกลับไปเทสว่าวที่ทำเรา เรายืมว่าวจุฬาขนาดความยาวกว่า 2 เมตรกว่าของลุงมาถ่ายเล่นซะหน่อย ฮ่าาา
เอาไปคืนลุงด้วยจ้าาาาา ว่าวจุฬาของแกใหญ่จริงงงงง
ได้เวลาเทสว่าวที่เรากับลอเรนทำแล้ว ปั่นจักรยานหา Location กันก็จัดเลย
วิ่ง วิ่ง วิ่ง ฮ่าาา เออแม่มขึ้นนี่หว่าาาาา
เสร็จกิจกรรมช่วงเช้าไปแล้ว กลับมาเพิ่มพลังกันก่อน ช่วงบ่ายเราต้องไปไหว้พระกัน 3 วัดในอัมพวา
และกิจกรรมที่แปดนี้ เป็นกิจกรรมไหว้พระ 3 วัด และวัดที่เราจะไปกันวัดแรกคือ “วัดบางกุ้ง” เรานั่งเรือกันไปครั้งนี้พี่โต้งของเราเป็นคนพาไปด้วย
นั่งเรือข้ามฝั่งมาใช้เวลาไม่นานก็ถึงวัดบางกุ้ง เดี๋ยวเราจะเล่าประวัติของวัดนี้ให้ฟัง เพราะที่นี่เป็นหนั่งใน Unseen thailand เลยก็ว่าได้
ประวัติจะยาวหน่อยอ่านกันด้วยล่ะ ตั้งแต่สมัยก่อนนั้น วัดบางกุ้ง เคยเป็นค่ายของทหารเรือไทยที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงโปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที “ค่ายบางกุ้ง” โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของค่ายไว้ เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเคารพบูชาของทหาร แต่หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 ค่ายบางกุ้งจึงร้าง ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีจึงทรงโปรดให้ชาวจีน จากระยอง ชลบุรี และกาญจนบุรี รวบรวมผู้คนมาตั้งค่ายทหารเพื่อรักษาค่ายอีกครั้ง จึงทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อคือ “ค่ายจีนบางกุ้ง”และในปี พ.ศ 2311 พระเจ้ากรุงอังวะยกทัพผ่านกาญจนบุรีมาล้อมค่ายบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชจีงโปรดเกล้าให้พระมหามนตร (บุญมา) เป็นแม่ทัพยกทัพไปช่วยทหารขับไล่พม่าออกไป ทำให้พม่าแตกพ่าย หลังจากการสู้รบครั้งนั้นทำให้ค่ายบางกุ้งถูกทิ้งร้างเกือบ 200 ปี จนมาถึงปี พ.ศ 2510 กระทรวงศึกษาธิการได้เข้ามาตั้งค่ายลูกเสือขึ้น (ปัจจุบันค่ายลูกเสือถูกยกเลิกไปแล้ว) และสร้างศาลพระเจ้าตาก สินมหาราชไว้เป็นอนุสรณ์และต่อมาได้ทำรูปปั้นท่ามวยทั้งหมดเพื่อเป็นความรู้ให้แก่ผู้มาเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาและแวะมาเที่ยวชมวัด
ตัวอุโบสถวัดปัจจุบันได้ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ถึง 4 ชนิด คือ ต้นโพธิ์ ตันไทร ตันไกร ต้นกร่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไม้มงคลของไทยเรา ภายในอุโบสถนี้ภายในมีรูปหล่อพระพุทธซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อนิลมณี” ท่านเป็นพระพุทธรูปที่นับถือของชาวเมืองสมุทรสงครามมาอย่างช้านานแล้ว
เพราะวันนี้เป็นวันหยุดยาวคนจึงเยอะมาก เราเลยส่งลอเรนเข้าอุโบสถเพราะอยากได้รูปนาง ไหนๆก็มาด้วยกันแล้วก็มาเป็นแบบให้เราถ่ายซะเลย กลับประเทศจะได้มีรูปไปอวดครอบครัว นางก็อะเคๆ ฮ่าๆๆ
ต่อไปเป็น “วัดบางแคน้อย” วัดนี้เป็นวัดที่อุโบสถไม้สักแกะสลักทั้งหลังแห่งเดียวในประเทศไทย ประวัติโดยย่อนะ เมื่อในปี พ.ศ. 2441 โดยคุณหญิงจุ้ย (น้อย) วงศาโรจน์ เป็นผู้สร้าง วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองเป็นที่สะดวกแก่การสัญจรไปมาในอดีต เดิมอุโบสถของวัดสร้างอยู่บนแพไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นโพธิ์ริมแม่น้ำ ต่อมาได้มีการบูรณะอุโบสถขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง จนครั้งล่าสุด โดยพระครูสมุทรนันทคุณ หรือหลวงพ่อแพร ได้มีการสร้างอุโบสถหลังปัจจุบันขึ้น ซึ่งปัจจุบันวัดบางแคน้อยได้รับการบูรณะอย่างดี
พื้นไม้อุโบสถนี้ เป็นไม้ตะเคียนทองมีอายุหลายร้อยปีซึ่งแผ่นใหญ่มากกกกก คิดดูดิว่าไม้ตะเคียนแค่ 7 แผ่นแต่ปูได้เต็มพื้นของอุโบสถเลยอ่ะ
ผนังภายในอุโบสถแห่งนี้ ทำจากไม้สักแกะสลักเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ลวดลายสวยงามชัดเจนโดยฝีมือช่างแกะสลักมือ 1 ที่สั่งตรงมาจาก จังหวัดเพชรบุรีเลยทีเดียว ซึ่งมีชื่อเสียงมากในด้านการแกะสลักไม้นี้
อุโบสถที่มีความสวยงาม มีคุณค่าทางด้านศิลปะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่างแกะสลัก เป็นช่างฝีมือจากเพชรบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านแกะสลักไม้เป็นอย่างมาก จึงถือว่าอุโบสถวัดบางแคน้อยเป็นศิลปะสถานที่มีคุณค่ามาก และถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย
ไปต่อกันวัดสุดท้ายคือ “วัดภุมรินทร์กุฎีทอง” นั่งเรือจากวัดบางแคน้อยมาไม่ไกลเลย ทั้งสามวัดนี้จะอยู่ไม่ห่างกันมาก นั่งเรือไม่นานก็ถึง
ประวัติจะยาวหน่อยได้โปรดอ่านนน “กุฎีทอง” เป็นเรือนไม้ทรงไทยตกแต่งลวดลายทั้งภายใน และภายนอกด้วยลายรดน้ำปิดทองตลอดทั้งหลัง จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อกุฎีทอง แต่เดิมทีนั้นกุฎีทองตั้งอยู่ที่วัดบางลี่บน ริมแม่น้ำแม่กลองบริเวณที่เป็น ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามในปัจจุบัน โดยกล่าวกันว่า สมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสร้างถวายเจ้าอาวาส วัดบางลี่บนในราวปี พ.ศ.2325 เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทราทรงมีพระนิวาสสถานเดิม ณ บ้านบางช้าง ตำบลอัมพวา และทรงเลื่อมใสศรัทธาท่านเจ้าอาวาสวัดบางลี่มาแต่ครั้งยังทรงพำนักอยู่ที่บ้านบางช้าง เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นพระบรมราชินีจึงได้สร้างกุฎีทองถวายเจ้าอาวาสวัดบางลี่บนรวมทั้งหมด 3 หลังด้วยกัน ครั้นต่อมาภายหลังวัดบางลี่บนได้กลายสภาพเป็นวัดร้างเนื่องจากที่ตั้งของวัดนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นคุ้งน้ำช่วงหักข้อศอกจึงถูกกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งพังกินพื้นที่วัดทำให้วัดเหลือพื้นที่น้อยลงทุกที รวมทั้งกุฎีทองที่ได้พังทลายเสียหายลง 2 หลัง คงเหลืออยู่เพียง 1 หลัง วัดบางลี่บนจึงกลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด จนกระทั่งในราวปี พ.ศ.2468 พระอธิการเกีย เจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์จึงได้รื้อกุฎีทองที่เหลืออยู่หลังสุดท้ายมาปลูกไว้ที่วัดภุมรินทร์ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตกของอำเภออัมพวา รวมทั้งยังได้เก็บรวบรวมศาสนวัตถุต่างๆ ที่เคยอยู่ในวัดบางลี่บน อันได้แก่ พระประธานภายในพระอุโบสถ รอยพระพุทธบาทจำลองและพระพุทธรูปต่างๆ มาประดิษฐานไว้ที่วัดภุมรินทร์ด้วยเช่นกัน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาวัดภุมรินทร์จึงมีชื่อเรียกต่อท้ายว่า “วัดภุมรินทร์กุฎีทอง”
ภายในกุฎีทอง
ศาสนวัตถุต่างๆ ที่รวบรวมเก็บมาได้
พระประธาน รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปต่างๆ ที่มาประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดภุมรินทร์
ชมวัดเสร็จเราก็ไปเดินเล่นกันต่อที่ตลาดน้ำอัมพวา นั่งเรือข้ามฝั่งมาลงที่ท่าน้ำหน้า สภ.อัมพวา
สำหรับเรา เราว่าของกินของขายแถวหน้า สภ.เยอะกว่าริมน้ำนะ อีกอย่างคือไม่แออัดด้วยแหละ
เดินตลาดน้ำอัมพวาหาอะไรทานกันจนอิ่มกัน เราทั้งหมดไปรอเรือที่ท่าน้ำเดิมเพื่อไปดูหิ่งห้อยกันในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้าย เพราะเรือที่เหมามาเขาจะพาเราเที่ยววัดสามวัด และตบท้ายคือพาไปดูหิ่งห้อย
บรรยากาศริมน้ำแม่กลอง
ส่วนมากหิ่งห้อยจะอยู่ตามต้นลำพูน อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืด แต่หิ่งห้อยบางชนิดก็จะอาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อย หรือป่าชายเลน ที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ซึ่งครั้งนี้เราจะได้เห็นรึป่าวมาดูกันเพราะวันนี้ท้องฟ้าสว่าง มีโอกาสเห็นน้อย แต่โชคก็เข้าข้างเราาาาา
พอเห็นกันบ้างไหม ถ่ายตอนกลางคืนให้ติดหิ่งห้อยคือถ่ายยากมากกกกก นี่เราพยายามสุดๆแล้ว อยากให้ทุกคนได้เห็นแบบที่เราเห็น นั่นอ่ะๆ ดวงเหลืองๆเล็กๆนั่นอ่ะแหละหิ่งห้อย
ชมหิ่งห้อยจบ เดินทางกลับไปพักผ่อนเอาแรง พรุ่งนี้เราจะพาลอเรนไปอีกสถานที่นึง ซึ่งเป็นที่สุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพ
DAY 6 29/07/2019
วันสุดท้ายของการเดินทาง วันนี้เรา 2 คนกับลอเรนต้องลำอาพี่โต้งหัวหน้าชุมชน คุณพ่อสมทรง คุณแม่แอ๊ว พี่น้อง และน้องอลิสกันแล้ว เรามาอยู่ที่นี่ทั้งหมด 6 วัน 5 คืน ได้รับการต้อนรับอย่างดีมากๆ ถึงกับดีมากที่สุด อยากได้อะไรก็หามาให้ อยากเสริมต้องไหนให้บอก ไม่มีขาดตกบกพร่องเลยเพอร์เฟคทุกอย่างครับ เป็นครอบครัวที่น่ารักมากๆ อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่นจนไม่อยากกลับเลยจริงๆ และชาวบ้านชุมชนบ้านบางพลับน่ารักมากๆ เฟรนด์ลี่ เป็นกันเองที่สุด แต่วันนี้เราต้องจากกันแล้ว รู้สึกใจหายเหมือนกัน ฮ่าาาๆ ถ้าเรามีโอกาสได้ไปเที่ยวเราจะกลับไปที่นี่อีก ถ้าใครสนใจอยากจะลงไปสัมผัสชุมชนบ้านบางพลับ หรืออยากจะไปพักที่นี่ก็ได้เช่นกัน ที่พักชื่อ “บ้านสวนแสงตะวันโฮมสเตย์“ สามารถติดต่อโดยตรงได้เลยที่เบอร์นี้ 081-274-4433 พี่โต้ง ที่นี่เค้ามีให้ทุกอย่างจริงๆ เราประทับใจมากกกกก
และเราก็เดินทางต่อไปที่ “อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” หรือเรียกสั้นๆว่า “อุทยาน ร.2” เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปะอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติของจังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนเข้าไปชมอาคารทรงไทยหมู่ 5 หลัง จะมีให้นักท่องเที่ยวใส่ชุดไทย เราเลยให้ลอเรนลองใส่ชุดไทยดู
นี่นางเลือกชุดเองเลยนะจ๊ะ แจ่มจรัสมากอ่ะ ฮ่าาาๆ
อาคารทรงไทยหมู่ 5 หลัง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงศิลปวัตถุในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของชาวไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 แบ่งออก 6 โซน คือ หอกลาง, หอชาย, หอหญิง, ชานเรือน, ตำแหน่งศิลาฤกษ์ แสดงแบบจำลองศิลาฤกษ์ และพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา
ใกล้ชานเรือนจะมีพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา
หลังจากชมอาคารทรงไทยหมู่ 5 หลังเสร็จแล้ว ก็ได้พาลอเรนมาถ่ายรูปด้านล่างไว้เป็นที่ระลึกก่อนกลับประเทศ ว่านี่นะได้ใส่ชุดไทยก็เหมือนได้มาถึงเมืองไทยแบบสมบูรณ์แบบแล้ว จะได้มีรูปไปอวดเพื่อนฝูงกัน
นางเป็นคนน่ารักนะ น่ารักมาก ตอนเจอกันครั้งแรกเราก็ไม่ได้สนิทอะไรกันมาก และแทบไม่กล้าถ่ายรูปนางเลย อาจจะเนื่องด้วยวัฒนธรรมทางยุโรปเราก็ไม่กล้าอะไรกับนางมาก แต่หลังๆในช่วงระยะเวลาตลอด 6 วันที่ผ่านมานางเข้าใจ และเข้าถึงเลยได้เล่นหยอกล้อกับนางบ้าง เรื่องรูปต่างประเทศเค้าซีเรียสกับมาก จะถ่ายต้องขอ จะเอารูปไปโพสก็ต้องขอเพราะเป็นลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น หลังๆเรายกกล้องถ่ายรูป นางก็บอกว่าถ่ายได้เพราะนางก็อยากได้รูปอยู่แระ เราเลยถ่ายได้สบายๆ ฮ่าาาา
เยี่ยมชมอุทยาน ร.2 เสร็จพวกเราทั้งหมดก็เดินกลับกรุงเทพกับ แต่ระหว่างเราแวะทานอาหารกลางวันกันที่ “ซอลท์ เลค เดอ แม่กลอง” Salt Lake De Maeklong
ร้านนี้มี 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นวิวติดนาเกลือ ส่วนชั้นสองจะเป็นวิวห้องแอร์ สามารถเลือกนั่งได้เลย
เมนูอาหารที่ทางร้านได้แนะนำเรามีตามนี้เลย เมนูน้ำปั้มมี กาแฟนาเกลือ, นมสาวนาเกลือคัพเอ, ปังปิ้งมะพร้าวคั่ว และเมนูอาหารมี สปาเก็ตตี้ชะครามกุ้ง, ข้าวแมวร้องไห้, สลิมโลปลาทู และไก่ทอดนาเกลือ
ที่ร้านซอลท์ เลค เดอ แม่กลองนี้มีสปาเท้าด้วยนะผลิตภัณฑ์ที่ใช้สปาเท้าก็ทำมาจากเกลือ ลอเรนลองแล้วบอกเท้านุ่มมาก และหอมด้วย เราไม่ได้ก้มไปดมเท้านางนะ นางบอกเราเอง ฮ่าาาๆๆ
ก่อนกลับก็ไปถ่ายรูปเล่นกัน ที่ร้านนี้มีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปเพียบ
ออเรนก็เอากะเค้าด้วยนะ ฮ่าาาาาๆ
ขอบคุณท่านที่ติดตามอ่านจนจบทริปนะ ประสบการณ์ในการร่วมทริปกับชาวต่างชาติในครั้งนี้ เราคิดว่าเป็นอะไรที่ท้าทายมากๆ เนื่องจากปัจจัยอะไรหลายๆอย่างตอนแรกเรากังวลมาก แต่พอหลังๆเราเริ่มสนิทกันมากขึ้น อะไรๆก็ผ่านไปได้ด้วยดี และต้องขอบคุณชุมชนบ้านบางพลับที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ดีๆ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความรู้ที่นำไปประกอบอาชีพในปัจจุบันได้ ที่นี่เป็นชุมชนต้นแบบที่ควรค่าแก่การมาสัมผัสมากๆ มาที่ชุมชนนี้ไม่มีคำว่าเสียเวลาเลยจริงๆ เราจากมาครั้งนี้เราได้อะไรกลับมามากมายเลย ไม่ว่าจะความรู้ ความอบอุ่น รอยยิ้มของคนในชุมชน คือเราปลื้มมาก สุดท้ายแล้วเราคิดว่าข้อมูลทั้งหมดที่มีนี้คงนำไปใช้ประโยชน์ได้กับหลายๆคนนะ ถ้าผิดพลาดอะไรไป ต้องกราบขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วยนะครับ
___________________
สวัสดีครับ
HangOut : ออกเที่ยว